วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เรื่องของสัตว์โลก

สัตว์ เป็น สิ่งมีชีวิตกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด จัดอยู่ใน อาณาจักรสัตว์ (อังกฤษ: Kingdom Animalia) เป็นสิ่งมีชีวิตพวกที่นิวเคลียสมีผนังห่อหุ้ม ประกอบด้วย หลายเซลล์มีการแบ่งหน้าที่ของแต่ละเซลล์เพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างแบบถาวร ไม่มีคลอโรฟิลล์ สร้างอาหารเองไม่ได้ ดำรงชีวิตได้หลายลักษณะทั้งบนบกในน้ำ และบางชนิดเป็นปรสิต อาณาจักรนี้ได้แก่สัตว์ทุกชนิด ตั้งแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจนถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ พยาธิใบไม้ กบ ลิง กระต่าย ดาวทะเล แมงดาทะเล พลานาเรีย หอยสองฝา แมลงสาบ ในทางชีววิทยา มนุษย์ ก็จัดอยู่ในอาณาจักรสัตว์ โดยคำว่าสัตว์ กลายความหมายมาจากคำว่า "สตฺตฺว" ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่าสิ่งมีชีวิต
ประเภทของสัตว์ สัตว์ในโลกนี้มีมากมายหลายชนิด นักวิทยาศาสตร์ได้จัดแบ่งสัตว์เป็นกลุ่ม โดยถือรูปร่างลักษณะที่เหมือนกัน หรือต่างกันเป็นสำคัญ อริสโตเติล นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีก ใช้กระดูกสันหลังเป็นเกณฑ์ในการแบ่งสัตว์ได้เป็น 2 พวก คือ

สัตว์มีกระดูกสันหลัง คือ สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเป็นแกนกลางร่างกาย
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังคือ สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นแกนกลางร่างกาย

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หมีขอ

หมีขอ หรือ บินตุรง หรือ หมีกระรอก เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arctictis binturong แม้จะมีหน้าตาคล้ายหมีจนได้ชื่อว่าหมี แต่เป็นสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็นที่ใหญ่ที่สุด จัดเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในสกุล Arctictis มีหางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอก จึงเป็นที่มาของชื่อ "หมีกระรอก" ขนตามลำตัวค่อนข้างยาวสีดำและหยาบ สีขนบริเวณหัวอาจมีสีเทา หูกลม บริเวณขอบหูมีสีขาว หางที่ยาวสามารถใช้เกาะเกี่ยวต้นไม้ได้เป็นอย่างดี
มีความยาวลำตัวและหัว 61-96.5 เซนติเมตร ความยาวหาง 50-84 เซนติเมตร น้ำหนัก 9-20 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่ภูฐาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ภาคตะวันตกของพม่า ไทย ลาว กัมพูชา พรมแดนระหว่างเวียดนามติดกับลาวและกัมพูชา มาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียวในอินโดนีเซีย และเกาะปาลาวันในฟิลิปปินส์
หมีขอ เป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน อาศัยและหากินตามลำพัง แต่ในบางครั้งอาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประกอบไปด้วย แม่และลูก ในเวลากลางวันจะอาศัยโพรงไม้เป็นที่หลับนอน อาหารได้แก่ ผลไม้และสัตว์ที่มีขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ บนต้นไม้ทั้งแมลงและสัตว์เลื้อยคลาน ปีนต้นไม้ได้เก่งมาก โดยใช้หางที่ยาวเกาะเกี่ยวกิ่งไม้จากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถว่ายน้ำได้อีกด้วย มีการผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี ใช้เวลาตั้งท้องนาน 92 วัน ออกลูกครั้งละ 1-3 ตัว หมีขอ ตัวเมียจะมีเต้านมทั้งหมด 2 คู่ ลูกที่เกิดใหม่ยังไม่สามารถขาและหางเกี่ยวกิ่งไม้ได้ชำนาญเหมือนตัวพ่อแม่
หมีขอ เป็นสัตว์ที่เลี้ยงตั้งแต่เล็กแล้วจะเชื่อง จนสามารถนำมาฝึกให้แสดงโชว์ต่าง ๆ ได้ตามสวนสัตว์ สถานะปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หมีหมา หรือ หมีคน

หมีหมา หรือ หมีคน (Ursus malayanus) เป็นหมีที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร ขนตามตัวสั้นสีดำปนสีน้ำตาล ขนบริเวณอกโค้งเป็นรูปตัว U สีขาวนวล บริเวณหน้าตั้งแต่ตาไปถึงปลายจมูกสีค่อนข้างขาว หรือน้ำตาลอ่อน

นิสัย
ปกติหมีหมาหากินกลางคืน บางครั้งก็ออกหากินกลางวัน มักหากินเป็นคู่ อยู่ในป่าทึบ ไม่ชอบอยู่ตามเขา ดุร้ายและขึ้นต้นไม้เก่งกว่าหมีควาย (Ursus thibetanus) มีอุปนิสัยโมโหง่าย ชอบนอนบนต้นไม้หรือตามโพรงไม้สูง ๆ ไม่ชอบนอนพื้นดิน บางครั้งร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่ากระโชก จึงเรียกว่า หมีหมา เมื่อยืน 2 ขา จะยืนตัวตรง จึงเรียกอีกชื่อว่า หมีคน

ถิ่นอาศัย
พบในพม่า อินโดจีน ไทย มาเลเซีย สุมาตรา บอร์เนียว ภาคใต้ของจีน ในประเทศไทยพบมากทางภาคใต้

อาหาร
ลูกไม้ ใบไม้อ่อน สัตว์เล็ก ๆ แมลงรวมทั้งไส้เดือน ที่ชอบมาก คือน้ำผึ้ง นอกจากนี้ยังชอบกินเนื้ออ่อนของมะพร้าว

การสืบพันธุ์
ผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ตั้งท้องประมาณ 95-96 วัน ปกติออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว อายุยืนถึง 20 ปี

สถานภาพปัจจุบัน
สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หมีควาย

หมีควาย (Ursus thibetanus) จัดเป็นหมี 1 ใน 2 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย (อีกหนึ่งคือ หมีหมา (Ursus malayanus)) หมีควายมีลำตัวอ้วนใหญ่ หัวมีขนาดใหญ่ ตาเล็กและหูกลม ขาอ้วนล่ำและหนา หางสั้น มีนิ้วเท้ายาวทั้งหมดห้านิ้ว กรงเล็บสั้น ขนตามลำตัวหยาบมีสีดำ มีลักษณะเด่นคือ ขนบริเวณหน้าอกเป็นรูปตัว V มีสีขาว ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย ขนาดเมื่อโตเต็มที่ ความยาวลำตัวและหัว 120-150 เซนติเมตร ความยาวหาง 6.5-10 เซนติเมตร น้ำหนักอาจหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม มีการกระจายพันธุ์ที่ค่อนข้างกว้างขวางพบตั้งแต่ ภาคตะวันออกของปากีสถาน ภาคเหนือของอินเดีย ธิเบต เนปาล สิกขิม ภูฐาน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม จีน คาบสมุทรเกาหลี ญี่ปุ่น ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของรัสเซีย มักเลือกอาศัยอยู่ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีอากาศเย็น เช่น ป่าบนภูเขาหินปูน กินอาหารได้หลากหลาย เช่น เนื้อสัตว์ ผลไม้ ใบไม้ หน่อไม้ ซากสัตว์ แมลง รังผึ้ง ตัวอ่อนผึ้ง บางครั้งอาจเข้ามากินในพื้นที่เกษตรกรรม มักออกหากินในเวลากลางคืน ปีนต้นไม้ไม่เก่ง แต่ชอบฉีกเปลือกไม้เพื่อหาแมลงใต้เปลือกไม้ หรือใช้แสดงเป็นสัญลักษณ์บอกถึงอาณาเขตของตัว ตามปกรติมักอาศัยและหากินตามลำพัง แต่ในฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อน อาจหากินเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ใช้เวลาตั้งท้องนาน 7-8 เดือน ออกลูกครั้งละไม่เกิน 2 ตัว ตามโพรงไม้หรือในถ้ำที่ปลอดภัย หมีควายเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ค่อยดี จึงค่อนข้างดุร้าย เมื่อตกใจหรือสงสัยจะยืนด้วยขาหลัง ต่อสู้กับศัตรูโดยการตะปบด้วยขาหน้าและกัดด้วยฟันอย่างรุนแรง นอกจากนี้แล้วยังมีพฤติกรรมที่แปลก คือ ชอบขดตัวกลมแล้วกลิ้งลงมาจากเนินเขา สันนิษฐานว่าเป็นการเล่นสนุก

หมีขั้วโลก

หมีขั้วโลก (Polar Bear) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นนักล่าแห่งดินแดนขั้วโลกเหนือที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพชีวิตกลางน้ำแข็ง ธรรมชาติสร้างให้หมีขาวแตกต่างจากหมีพันธุ์อื่น คือ มีขนคลุมอุ้งเท้า นิ้วเท้าสั้น เล็บโค้งงอเพื่อ ให้ยึดน้ำแข็งได้อย่างมั่นคง ในขณะเดียวกันก็มีท่อนขาขนาดใหญ่เพื่อเฉลี่ยน้ำหนักมหาศาล เพื่อสามารถเดินบนน้ำแข็งบางๆ ได้

หมีขั้วโลก ตัวผู้หนักถึง 775-1,500 ปอนด์ ส่วนตัวเมียหนัก 330-500 ปอนด์ มีถิ่นที่อยู่บริเวณอาร์กติก ขั้วโลกเหนือ แต่ไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน พบในอลาสกา แคนาดา รัสเซีย เดนมาร์ก (กรีนแลนด์) และนอร์เวย์ เป็นสัตว์สปีชีส์หนึ่งของโลกที่กำลังถูกคุกคาม ปัจจุบันหมีขั้วโลกมีจำนวนประมาณ 22,000-27,000 ตัว อยู่ในแคนาดามากที่สุดคือราว 15,000 ตัว ซึ่งการดำรงชีวิตให้อยู่รอดในแถบอาร์กติกที่มีอุณหภูมิหนาวเย็น ทำให้สัตว์หลายๆ ชนิดใช้เวลายาวนานในการวิวัฒนาการจนมีขนสีขาว หรือเปลี่ยนสีขนในฤดูหนาวจนกลมกลืนกับหิมะ ซึ่งเป็นการพรางตัวที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และหาอาหาร ดังเช่นกระต่ายป่าสีขาว (white hare) ,นกนางนวลอาร์กติก (Arctictern) ,ตัววีเซล (weasel) ,ตัวเลมมิง (lemming) ,หมาจิ้งจอกอาร์กติก (Arctic fox) โดยเฉพาะหมีขั้วโลก (polar bear) ที่ใช้เวลาประมาณ 2 แสนปี พัฒนา และมีวิวัฒนาการจากหมีสีน้ำตาลมาเป็นหมีขาวในทุกวันนี้

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หมีโคอาล่า


โคอาลา (Koala) เป็นสัตว์ในกลุ่มสัตว์จำพวกจิงโจ้ (มิใช่หมี) ตัวเมียจะมีกระเป๋าหน้าท้อง สำหรับให้ลูกอ่อนอาศัยอยู่ จากการที่มันมีลักษณะรูปร่าง หน้าตาคล้ายสัตว์ในตระกูลหมี ทำให้คนส่วนมากเรียกมันว่า หมีโคอาลา (Koala bear)



ประวัติ
ใน พ.ศ. 2341 มีบันทึกครั้งแรกสุดที่พบโคอาล่า พบโดยชาวยุโรปชื่อ จอห์น ไพรซ์ (John Price) ต่อมาพ.ศ. 2346 ข้อมูลรายละเอียดของโคอาลาเริ่มถูกตีพิมพ์ในซิดนีย์กาเซ็ตต์ (Sydney Gazette) ค.ศ. 1816 นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส Blainwill ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้ ชื่อว่า Phascolarctos ซึ่งมาจากภาษากรีก โดยเกิดจากคำ 2 คำ รวมกัน คือคำว่า กระเป๋าหน้าท้องของจิงโจ้ และคำว่า หมี (leather pouch และ bear) ต่อมานักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน Goldfuss ได้ตั้งชื่อที่เฉพาะเจาะจงลงไปเป็น cinereus ซึ่งหมายถึง สีขี้เถ้า


ขนาดและน้ำหนัก
โคอาลาที่อยู่ทางตอนใต้จะมีขนาดใหญ่กว่าที่อื่น โดยตัวผู้สูงประมาณ 30.8 นิ้ว หรือ 78 ซ.ม. ในขณะที่ตัวเมียสูงประมาณ 28 นิ้ว หรือ 72 ซ.ม. โคอาลาที่อยู่ทางตอนใต้ ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 26 ปอนด์ หรือ 11.8 กิโลกรัม ในขณะน้ำหนักเฉลี่ยของตัวเมียอยู่ที่ 17.4 ปอนด์ หรือ 7.9 กิโลกรัม โคอาลาที่อยู่ทางตอนเหนือ ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 14.3 ปอนด์ หรือ 6.5 กิโลกรัม ในขณะน้ำหนักเฉลี่ยของตัวเมียอยู่ที่ 11.2 ปอนด์ หรือ 5.1 กิโลกรัม โคอาลาแรกเกิดมีน้ำหนักเพียง 0.5 กิโลกรัม เท่านั้น ลักษณะขน โคอาลาที่อยู่ทางตอนใต้มีขนที่หนาเหมือนขนแกะ บริเวณหลังจะมีขนที่หนาและยาวกว่าบริเวณท้อง โคอาลาที่อยู่ทางตอนเหนือมีขนที่สั้นกว่า โคอาลามีขนหนาที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์อื่นๆในตระกูลจิงโจ้ ขนมีสีเทา ถึง น้ำตาลปนเหลือง และมีสีขาวบริเวณคาง หน้าอก และด้านหน้าของแขน-ขา ขนบริเวณหูมีลักษณะเป็นปุย และมีขนสีขาวที่ยาวกว่าบริเวณอื่น

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หมีแพนด้า


แพนด้ายักษ์ หรือไจแอนท์แพนด้า (Ailuropoda melanoleuca) คนไทยนิยมเรียกหมีแพนด้า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์หมี (Ursidae) ถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
อาหารโปรดของแพนด้ายักษ์คือไผ่ นอกนั้นจะเป็นหญ้าชนิดอื่น ๆ
ลักษณะเฉพาะของแพนด้ายักษ์คือมีขนสีดำรอบดวงตา, ใบหู, บ่า และขาทั้งสี่ข้าง ส่วนอื่นประกอบด้วยขนสีขาว



ปัจจุบันแพนด้ายักษ์เป็นหนึ่งในสัตว์สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดสายพันธุ์หนึ่งของโลก ตามรายงานล่าสุด
มีแพนด้าที่เลี้ยงในกรงเลี้ยง 239 ตัวอยู่ในจีน และอีก 27 ตัวอยู่ในต่างประเทศ มีการคาดการณ์ไว้ว่ามีแพนด้ายักษ์ประมาณ 1,590ตัวอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาในปี พ.ศ. 2549 ผ่านการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ สามารถประมาณการได้ว่าอาจจะมีแพนด้ายักษ์เป็นจำนวนถึง 2,000-3,000 ตัวอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำนวนแพนด้าตามธรรมชาติเพิ่มจำนวนขึ้น สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวยังไม่มีความแน่นอนพอที่จะย้ายชื่อแพนด้ายักษ์ออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์

ลักษณะทั่วไป

แพนด้ายักษ์มีถิ่นอาศัยอยู่ตามพื้นที่ภูเขา เช่น มณฑลเสฉวน, ซานซี, กานซูและทิเบต แพนด้ายักษ์เป็นสัญลักษณ์ของกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund:WWF) องค์กรด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 แพนด้าได้กลายเป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศจีน และรูปภาพของมันได้อยู่บนเหรียญทองของจีน
ถึงแม้พวกมันจะจัดอยู่ในวงศ์ของหมี แต่พฤติกรรมการกินของมันแตกต่างจากหมีโดยสิ้นเชิง แพนด้าเป็นสัตว์กินพืชเป็นอาหาร โดย 99% ของอาหารที่มันกินคือไผ่ แต่บางทีอาจพบว่ามันก็กินไข่ ปลา และแมลงบางชนิดในไม้ไผ่ที่มันกิน นี่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ
หลายสิบปีที่ผ่านมา การจัดจำแนกสายพันธุ์ที่แน่นอนของแพนด้ายังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แพนด้ายักษ์และแพนด้าแดงซึ่งเป็นญาติสายพันธุ์ห่าง ๆ กัน และยังมีลักษณะพิเศษที่เหมือนทั้งหมีและแรคคูน อย่างไรก็ตาม การทดลองทางพันธุกรรมบ่งบอกว่าแพนด้ายักษ์เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของหมี (วงศ์ Ursidae) หมีที่สายพันธุ์ใกล้เคียงที่สุดของแพนด้าคือหมีแว่นของอเมริกาใต้ (ข้อขัดแย้งที่ยังคงเป็นที่สงสัยอยู่คือแพนด้าแดงนั้นอยู่ในวงศ์ใด เป็นที่ถกเถียงว่าอาจจะอยู่ในวงศ์หมี (Ursidae), วงศ์แรคคูน, วงศ์โพรไซโอนิเด (Procyonidae), หรืออยู่ในวงศ์เฉพาะของมันเอง ไอเลอริเด (Ailuridae))
แพนด้าเป็นสัตว์สปีชีส์ที่ถูกคุกคามหรืออยู่ในอันตรายต่อการสูญพันธ์ ทั้งนี้มาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่จากการบุกรุกของมนุษย์ อัตราการเกิดต่ำทั้งในป่าและในกรงเลี้ยง เชื่อว่ามีแพนด้ายักษ์เพียง 1,600 ตัว อาศัยอยู่รอดในป่า
หมีแพนด้ามีอุ้งตีนที่ผิดจากธรรมดา คือมีนิ้วหัวแม่มือ และมีนิ้วอีก 5 นิ้ว นิ้วหัวแม่มือที่จริงแล้วมาจากการปรับปรุงรูปแบบของกระดูกข้อต่อ สตีเฟน เจย์ กาวลด์ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ โดยมีชื่อเรื่องว่า The Panda's Thumb หรือ นิ้วหัวแม่มือของแพนด้า หางของแพนด้ายักษ์นั้นสั้นมาก โดยมีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร
แพนด้ายักษ์ เป็นที่รู้จักในตะวันตกเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2412 โดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส อาร์มันด์ เดวิด ผู้ซึ่งได้รับหนังของแพนด้ามาจากนายพรานเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2412 ส่วนชาวตะวันตกคนแรกที่เป็นที่รู้จักว่าเห็นแพนด้ายักษ์ที่ยังมีชีวิตคือนักสัตว์วิทยาเยอรมัน ฮิวโก เวยโกลด์ เขาซื้อลูกของมันมาในปี พ.ศ. 2459 เคอร์มิท และ ธีโอดอร์ รูสเวลท์ จูเนียร์ ได้เป็นชาวต่างชาติแรก ที่ยิงแพนด้าในการเดินทางศึกษาที่ประเทศจีน เพื่อนำไปสตัฟฟ์และใช้ในการศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ฟิลด์ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ในปี พ.ศ. 2479 รุธ ฮาร์คเนส เป็นชาวตะวันตกคนแรก ที่นำเข้าแพนด้ายักษ์ที่มีชีวิตมายังสหรัฐฯ เป็นลูกแพนด้าชื่อซู-ลิน โดยนำมาเลี้ยงที่สวนสัตว์บรูคฟิลด์ในชิคาโก แพนด้ายักษ์ถือเป็นสัญลักษณ์ทางการทูตอย่างหนึ่งของจีน จะเห็นได้ว่าจีนส่งหมีแพนด้าไปยังสวนสัตว์สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยการให้ยืม ซึ่งเป็นเครื่องหมายการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนและชาติตะวันตก การปฏิบัติเป็นธรรมเนียมเช่นนี้ทำให้มีคนเรียกแพนด้าว่า "ทูตสันถวไมตรี" อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ไม่มีการใช้หมีแพนด้าในฐานะทูตสันถวไมตรีอีกต่อไป แต่จีนมีการเสนอที่จะส่งแพนด้ายักษ์ไปยังชาติอื่นโดยให้ยืมเป็นเวลา 10 ปี โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ และมีข้อกำหนดว่าลูกของแพนด้ายักษ์ใด ๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณรัฐประชาชนจีน



หมีแพนด้าตัวแรกในประเทศไทย

ผมเองอดไม่ได้ที่จะตื่นเต้นไปกับเขาด้วย เมื่อมีโอกาสได้เห็นภาพของเจ้าแพนด้าตัวน้อยทายาทของ คุณหลินฮุ่ย และ คุณช่วงช่วง ที่เพิ่งคลอดออกมาลืมตาดูโลก และเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดของสวนสัตว์เชียงใหม่ และก็ต้องยอมรับว่าผมเองเคยชินกับภาพของเจ้าลูกหมีแพนด้า ในภาพยนต์สารคดีตามหน้าจอโทรทัศน์ ที่มีขนปุกปุยน่ารัก น่าฟัด น่าเตะ ไม่เหมือนกับภาพของเจ้าตัวน้อยที่ออกมาร้องแง้วๆ ดูคล้ายกับลูกแมวซะมากกว่าลูกหมี…

อ ง ค์ กา ร ส ว น สั ต ว์ ใ น พ ระ บ ร ม รา ชู ป ถั ม ภ์

วันนี้ได้มีโอกาสเข้าไปดูภาพด้านบนนี้จากเว็ปสวนสัตว์เชียงใหม่ ก็เลยขอคัดลอกมาบันทึกไว้ในที่นี้ด้วย ดังนี้ ผลจากการติดตามการตั้งท้องของหลินฮุ่ยอย่างใกล้ชิด พบว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2552 ที่ผ่านมา ในเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ หลินฮุ่ย เริ่มมีการเลีย อวัยวะเพศอย่างต่อเนื่อง สลับกับการมาร์คกิ้ง การกินอาหารลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการเลีย อวัยวะเพศติดต่อกัน รวมแล้วเป็นเวลาหลายชั่วโมง และในช่วงเช้าเวลาประมาณ แปดนาฬิกาเศษ ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่จะนำหลินฮุ่ยเข้ากรงบีบเพื่อ ตรวจสุขภาพตามปกติ ปรากฏว่าหลินฮุ่ยไม่ยอมเข้ากรงบีบเหมือนเช่นเคย แต่กลับสนใจแต่การเลียอวัยวะเพศและเริ่มมีการเบ่ง จนอวัยวะเพศมีการขยายอย่างเห็นได้ชัด จึงได้ตัดสินใจที่จะไม่ปล่อยหลินฮุ่ยออกส่วนจัดแสดง และกำชับให้เจ้าหน้าที่สังเกตพฤติกรรมแบบไม่ให้คลาดสายตา ซึ่งพบว่าหลินฮุ่ยมีการเบ่งลูกเป็นระยะ และมีความถี่เพิ่มมากขึ้นจากช่วง 20 นาที มาเป็นช่วง 10 นาที สลับกับการเลีย อวัยวะเพศ

จากนั้นเวลาประมาณ 10.39 น. หลินฮุ่ยได้เปลี่ยนมาอยู่ในท่าโก้งโค้ง และได้เบ่งอีกครั้งหนึ่งจนลูกคลอดออกมาบนพื้นห้อง หลินฮุ่ยก็พยายามคาบลูกไปไว้ในอ้อมกอด ซึ่งเป็นจุดสำคัญว่าหลินฮุ่ยจะสามารถเลี้ยงลูกได้หรือไม่ ถ้าหลินฮุ่ยไม่คาบลูกหรือคาบลูกไม่เป็น ก็แสดงว่าหลินฮุ่ย เลี้ยงลูกไม่เป็น แต่ปรากฏว่า หลินฮุ่ยเป็นแม่ที่ดีมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นท้องแรก แต่ก็สามารถคาบลูกมาไว้ในอ้อมกอดได้เป็นอย่างดี ทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า หลินฮุ่ยเลี้ยงลูกเป็น ส่วนลูกหมีแพนด้าที่เกิดออกมา ตัวใหญ่ ร้องเสียงดัง ดิ้นแรง น่าจะมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 200 กรัม ซึ่งเป็นลักษณะของลูกหมีแพนด้าที่มีความแข็งแรงจึงไม่น่าที่จะต้องแยกลูกหมีแพนด้าออกมาเลี้ยง ในช่วง 3 ชั่วโมงแรกหลังจากคลอด ลูกหมีแพนด้าจะยังไม่หิว หลินฮุ่ยได้ทำการกอดและเลียให้ความอบอุ่นแก่ลูก ทำให้ลูกนิ่งเงียบ จะขยับตัวเป็นระยะ และส่งเสียงร้องดัง เมื่อหลินฮุ่ยอุ้มดีแล้วก็จะนอนเงียบ สำหรับการเตรียมการเลี้ยงลูกหมีแพนด้า ก็จะต้องทราบให้ได้ก่อนว่าลูกหมีได้กินนมแม่หรือไม่ ถ้าได้กินก็ให้หลินฮุ่ยเลี้ยงต่อได้ แต่ถ้าไม่ได้กินก็ต้องพยายามแยกออกมาป้อนนม แล้วค่อยนำกลับไปคืนให้หลินฮุ่ยแต่เท่าที่สังเกตได้ ณ ขณะนี้ คาดว่าลูกหมีแพนด้า ได้กินนมจากหลินฮุ่ยไปบ้างแล้ว หมีแพนด้าช่วง ช่วง ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย สวนสัตว์เชียงใหม่ ในวันที่ 12 ตุลาคม 2546 ช่วง ช่วง รหัส 510 เพศผู้ ขณะมาอยู่ประเทศไทยนั้นมีอายุ 3 ขวบ น้ำหนัก 106 กก. เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2000 เกิดที่ศูนย์กลางวิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้าวู่หลง พ่อชื่อ ซิน ซิ่ง รหัส 329 แม่ชื่อไป๋เสวีย รหัส 418 สุขภาพแข็งแรง ไม่มีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ หลินฮุ่ย รหัส 539 เพศเมีย ขณะมาอยู่ประเทศไทยนั้นมีอายุ 2 ขวบ น้ำหนัก 60 กก. เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2001 เกิดที่ศูนย์กลางวิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้าวู่หลง พ่อชื่อ พ่าน พ่าน รหัส 308 แม่ชื่อ ถัง ถัง รหัส 446 สุขภาพแข็งแรง ไม่มีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์

ปัจจุบัน ช่วง ช่วง อายุ 8 ปี 8 เดือน น้ำหนัก 141.67 กก. และ หลินฮุ่ย อายุ 7 ปี 7 เดือน น้ำหนัก 113.67 กก.










http://astore.amazon.com/bbshop-20